System Information
แบบจำลองที่ใช้ในการพัฒนาระบบการจัดการอ่างเก็บน้ำแบบอัตโนมัติในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
แบบจำลองที่ใช้ในการพัฒนาระบบการจัดการอ่างเก็บน้ำแบบอัตโนมัติในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (Automated Reservoir Management System in Chao Phraya River Basin) ประกอบด้วย 2 แบบจำลองหลัก ได้แก่ (1) แบบจำลองการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำด้วยเทคนิคการเรียนรู้แบบเครื่อง (Reservoir Inflow Prediction Model Using Machine Learning, ML) และ (2) แบบจำลองการโปรแกรมแบบข้อจำกัด (Constraint Programming, CP) สำหรับใช้ในการบริหารเขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
1. แบบจำลองการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำด้วยเทคนิคการเรียนรู้แบบเครื่อง
แบบจำลองการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำระยะสั้น (Short–Time Prediction) รายวันล่วงหน้า 7 วัน ถูกพัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลักการปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ด้วยเทคนิคการเรียนรู้แบบเครื่อง (Machine Learning) ที่มีความทันสมัยและให้ผลการพยากรณ์ที่ระดับความแม่นยำสูง โดยมีโครงสร้างการทำงานพื้นฐานมาจากระบบโครงข่ายประสาทประดิษฐ์ (Artificial Neural Networks, ANNs) ร่วมกับหลักการทางสถิติ (Statistical Technique) และใช้ อัลกอรึทึม eXtreme Gradient Boosting ในการพยากรณ์ โดยโครงสร้างของตัวแปรนำเข้าในแบบจำลองการพยากรณ์รายวันของ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้นอาศัยข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำที่เวลา t ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำที่เวลาย้อนหลัง ทั้งนี้สามารถอ่านกระบวนการทำงานเพิ่มเติมได้ที่ DOI: 10.1109/ECTI-CON54298.2022.9795552
2. แบบจำลองการโปรแกรมแบบข้อจำกัด
แบบจำลองการโปรแกรมแบบข้อจำกัด (Constraint Programming, CP) สำหรับใช้ในการบริหารเขื่อนหรือการปฏิบัติการระบบอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาถูกพัฒนาขึ้นโดยอาศัยภาษา Python ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมเชิงข้อจำกัดในยุคปัจจุบันในการแก้โจทย์ปัญหาขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างรวดเร็วและมีความทันสมัย สำหรับการกำหนดรูปแบบปัญหาและการแก้ปัญหาโจทย์จะกำหนดในลักษณะของการหาค่าที่ดีที่สุดแบบหลายวัตถุประสงค์ (Multi–Objective Optimization) ของระบบอ่างเก็บน้ำแบบหลายอ่าง
3. เอกสารอ้างอิง
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ. (2565). การปฏิบัติการระบบอ่างเก็บน้ำรูปแบบใหม่สำหรับการบริหารจัดการน้ำต้นทุนระยะยาวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ (ระยะที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ.
J. Kraisangka et al., "Application of Machine Learning in Daily Reservoir Inflow Prediction of the Bhumibol Dam, Thailand," 2022 19th International Conference on Electrical Engineering/Electronics, Computer, Telecommunications and Information Technology (ECTI-CON), Prachuap Khiri Khan, Thailand, 2022, pp. 1-4, doi: 10.1109/ECTI-CON54298.2022.9795552.
ข้อมูลพื้นที่ศึกษา
1. ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya River Basin) ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศไทย และเป็นลุ่มน้ำที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันแบบคลัสเตอร์ครอบคลุมพื้นที่ในลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณพื้นที่ราบภาคกลางตอนล่าง ประกอบด้วยเขื่อนหลักที่สำคัญได้แก่ เขื่อนภูมิพล (Bhumibol Dam, BB) เขื่อนสิริกิติ์ (Sirikit Dam, SK) เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (Khaewnoi Bumrungdaen Dam, KNB) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (Pasakcholasit Dam, PS) และเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya Dam, CPY) โดยน้ำต้นทุนจากเขื่อนเก็บกักหลักได้แก่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะถูกจัดสรรไปใช้ร่วมกันร่วมกับเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเพื่อตอบสนองกิจกรรมความต้องการน้ำทางด้านท้ายน้ำทางตอนล่าง ได้แก่ ความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค การอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศและการผลักดันน้ำเค็ม การผลิตพลังงานไฟฟ้า และการชลประทานในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ (Greater Chao Phraya Irrigation Project, GCPYIP) ซึ่งประกอบด้วย โครงการชลประทานในเขตลุ่มน้ำปิงตอนล่าง (Lower Ping Irrigation Scheme, LPIS) จำนวน 3 โครงการ โครงการชลประทานในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา–ท่าจีนฝั่งซ้ายและฝั่งขวา (Chao Phraya–Tha Chin Irrigation Scheme, CPY–TCIS) จำนวน 26 โครงการ และโครงการชลประทานในเขตลุ่มน้ำน่านตอนล่าง (Lower Nan Irrigation Scheme, LNIS) จำนวน 5 โครงการ ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน โดยปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์จะถูกจัดสรรไปใช้เพื่อการชลประทานผ่านระบบคลองส่งน้ำทางฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเขื่อนทดน้ำเจ้าพระยาทำหน้าที่ผันน้ำเข้าระบบคลองส่งน้ำ รวมทั้งระบายน้ำท้ายเขื่อนส่วนหนึ่งเพื่อรักษาระบบนิเวศและช่วยผลักดันน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ดังแสดงแผนผังระบบอ่างเก็บน้ำในรูปที่ 2 ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำที่เหมาะสมโดยเฉพาะจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บกักหลักขนาดใหญ่ในพื้นที่จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และความมั่นคงในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ราบภาคกลางของประเทศไทย
รูปที่ 2 ผังน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
2. รายละเอียดของข้อมูลพื้นฐานของเขื่อน–อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
2.1 เขื่อนภูมิพล (Bhumibol Dam)
เขื่อนภูมิพล (Bhumibol Dam, BB) เป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งอเนกประสงค์แห่งแรกของประเทศไทย เดิมชื่อเขื่อนยันฮี ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า เขื่อนภูมิพล ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้ง (Concrete Arch Dam) เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์ และเป็นอันดับที่ 8 ของโลก สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เขื่อนภูมิพลนับเป็นแหล่งกักเก็บน้ำหลักของลุ่มน้ำปิง โดยมีน้ำจากลุ่มน้ำวังมาสมทบที่บ้านตาก อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนภูมิพลลงมา ลุ่มน้ำวังปัจจุบันไม่มีแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ น้ำจากทั้งสองลุ่มน้ำนี้นับเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงภาคเกษตรกรรมตลอดลุ่มน้ำปิงตอนล่างตั้งแต่จังหวัดตาก กำแพงเพชร ลงมาถึงนครสวรรค์ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการเกษตรกรรมบริเวณพื้นที่ราบภาคกลางสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ รวมพื้นที่มากกว่า 10 ล้านไร่ รวมทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการผลักดันน้ำเค็ม ทางตอนล่างของลุ่มน้ำ หรืออาจกล่าวได้ว่า การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงนับเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2561ก) สำหรับรายละเอียดของข้อมูลพื้นฐานเขื่อนภูมิพลแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ข้อมูลพื้นฐานเขื่อนภูมิพล
ข้อมูลพื้นฐาน | หน่วย | เขื่อน-อ่างเก็บน้ำ | ||
---|---|---|---|---|
ลักษณะตัวเขื่อน | ||||
ชนิด | – | คอนกรีตโค้ง | ||
ความสูง | เมตร | 154 | ||
ความยาวของสันเขื่อน | เมตร | 486 | ||
ความกว้างของสันเขื่อน | เมตร | 6 | ||
ความกว้างของฐานเขื่อน | เมตร | 56 | ||
ระดับที่สันเขื่อน | เมตร รทก. | 261 | ||
ลักษณะของอ่างเก็บน้ำ | ||||
ระดับน้ำเก็บกักสูงสุด | เมตร รทก. | 260.00 | ||
ระดับน้ำเก็บกักปกติ | เมตร รทก. | 260.00 | ||
ระดับน้ำเก็บกักต่ำสุด | เมตร รทก. | 213.00 | ||
ระดับน้ำต่ำสุดที่ผลิตไฟฟ้า | เมตร รทก. | 213 | ||
ระดับเฮดน้ำ | เมตร | 47 | ||
ระดับน้ำท้ายเขื่อน | เมตร รทก. | 138 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักสูงสุด | ล้านลูกบาศก์เมตร | 13,462 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักปกติ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 13,462 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด | ล้านลูกบาศก์เมตร | 3,800 | ||
ปริมาณน้ำใช้การ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 9,662 | ||
ปริมาณน้ำไม่ใช้การ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 3,800 | ||
ปริมาณน้ำใช้งานที่ผลิตไฟฟ้า | ล้านลูกบาศก์เมตร | 9,662 | ||
พื้นที่รับน้ำ | ตารางกิโลเมตร | 26,386 | ||
พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับเก็บกักสูงสุด | ตารางกิโลเมตร | 318 | ||
ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย (2555–2563) | ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี | 3,913 | ||
ปริมาณการสูญเสียน้ำจากการระเหยและรั่วซึม | ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี | 432 |
ที่มา: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (2555)
2.2 เขื่อนสิริกิติ์ (Sirikit Dam)
เขื่อนสิริกิติ์ (Sirikit Dam, SK) หรือเดิมชื่อว่า “เขื่อนผาซ่อม” เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน ตั้งอยู่ที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำน่านบริเวณเขาผาซ่อม ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ขนานนามว่า “เขื่อนสิริกิติ์” จัดเป็นเขื่อนดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เขื่อนแห่งนี้เดิมอยู่ในความดูแลของกรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายหลังจากที่ได้มีการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ หลังจากนั้นจึงได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลต่อไป เขื่อนสิริกิติ์ดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทานเมื่อปี พ.ศ. 2506 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนดิน แกนกลางเป็นดินเหนียว อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุของอ่างมากเป็นที่สามรองจากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนภูมิพล โรงไฟฟ้าและองค์ประกอบดำเนินการก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี พ.ศ. 2511 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2515 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวม 4 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 125,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิต 500,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์และโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2520
เขื่อนสิริกิติ์จัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ใช้ประโยชน์หลากหลายประการ ที่สำคัญได้แก่ การชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยน้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกระบายออกไปยังพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งในปริมาณที่ได้มีการตกลงร่วมกันไว้กับกรมชลประทาน การบรรเทาอุทกภัยโดยอ่างเก็บน้ำจะทำหน้าที่ช่วยเก็บกักน้ำที่อาจจะไหลบ่าลงมา ช่วยลดการเกิดอุทกภัยในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร และที่สำคัญเขื่อนยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า โดยน้ำที่ระบายออกไปเพื่อการชลประทานจะผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้ง 4 เครื่อง ให้พลังไฟฟ้า 500,000 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นการช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนั้น เขื่อนสิริกิติ์ยังช่วยในด้านการประมง การคมนาคมทางน้ำ และการท่องเที่ยวอีกด้วย (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2561ข) สำหรับรายละเอียดของข้อมูลพื้นฐานเขื่อนสิริกิติ์แสดงในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ข้อมูลพื้นฐานเขื่อนสิริกิติ์
ข้อมูลพื้นฐาน | หน่วย | เขื่อน-อ่างเก็บน้ำ | ||
---|---|---|---|---|
ลักษณะตัวเขื่อน | ||||
ชนิด | – | เขื่อนดิน | ||
ความสูง | เมตร | 114.60 | ||
ความยาวของสันเขื่อน | เมตร | 800 | ||
ความกว้างของสันเขื่อน | เมตร | 12 | ||
ความกว้างของฐานเขื่อน | เมตร | 630 | ||
ระดับที่สันเขื่อน | เมตร รทก. | 169.00 | ||
ลักษณะของอ่างเก็บน้ำ | ||||
ระดับน้ำเก็บกักสูงสุด | เมตร รทก. | 165.60 | ||
ระดับน้ำเก็บกักปกติ | เมตร รทก. | 160.00 | ||
ระดับน้ำเก็บกักต่ำสุด | เมตร รทก. | 128.00 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักสูงสุด | ล้านลูกบาศก์เมตร | 10,500 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักปกติ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 9,510 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด | ล้านลูกบาศก์เมตร | 2,850 | ||
ปริมาณน้ำใช้การ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 6,660 | ||
ปริมาณน้ำไม่ใช้การ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 2,850 | ||
พื้นที่รับน้ำ | ตารางกิโลเมตร | 13,300 | ||
พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับเก็บกักสูงสุด | ตารางกิโลเมตร | 259.60 |
ที่มา: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (2555)
2.3 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (Khaewnoi Bumrungdaen Dam)
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (Khaewnoi Bumrungdaen Dam, KNB) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่างท้องที่ประสบปัญหาอุทกภัย รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกทั่วไปฤดูฝนและฤดูแล้ง ตลอดจนสำหรับการอุปโภคบริโภค เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีลักษณะเป็นเขื่อนหินถมดาดหน้าด้วยคอนกรีต ความสูง 75 เมตร ความยาว 681 เมตร มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักปกติอยู่ที่ 61.39 ตารางกิโลเมตร ความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 155,166 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก และอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกกั้นแม่น้ำแควน้อย อาคารโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของเขื่อนแควน้อยบริเวณท้ายน้ำของ River Outlet (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2561ค) สำหรับรายละเอียดของข้อมูลพื้นฐานเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนแสดงในตารางที่ 3
ตารางที่ 3 ข้อมูลพื้นฐานเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
ข้อมูลพื้นฐาน | หน่วย | เขื่อน-อ่างเก็บน้ำ | ||
---|---|---|---|---|
ลักษณะตัวเขื่อน | ||||
ชนิด | – | เขื่อนหินถมดาดหน้าด้วยคอนกรีต | ||
ความสูง | เมตร | 75 | ||
ความยาวที่สันเขื่อน | เมตร | 681 | ||
ระดับที่สันเขื่อน | เมตร รทก. | 135.00 | ||
ลักษณะของอ่างเก็บน้ำ | ||||
ระดับน้ำเก็บกักสูงสุด | เมตร รทก. | 130.00 | ||
ระดับน้ำเก็บกักปกติ | เมตร รทก. | 90.00 | ||
ระดับน้ำเก็บกักต่ำสุด | เมตร รทก. | 88.60 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักสูงสุด | ล้านลูกบาศก์เมตร | 939 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักปกติ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 769 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด | ล้านลูกบาศก์เมตร | 36 | ||
ปริมาณน้ำใช้การ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 733 | ||
ปริมาณน้ำไม่ใช้การ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 36 | ||
พื้นที่รับน้ำ | ตารางกิโลเมตร | 4,254 | ||
ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย (2555–2563) | ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี | 5,084 |
2.4 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (Pasakcholasit Dam, PS)
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (Pasakcholasit Dam, PS) เป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงดำริให้สร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนามว่า “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” และเสด็จทรงเปิดเขื่อนฯ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 บ้านหนองบัว ที่ตั้งเขื่อนอยู่ที่ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และบ้านคำพราน ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี
“แม่น้ำป่าสัก” เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดสายหนึ่งของชาวจังหวัดลพบุรีและสระบุรี ประชาชนจะได้ประโยชน์จากแม่น้ำป่าสักอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรมหรือการประมง แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของจังหวัดลพบุรี เช่น ตำบลมะนาวหวาน ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล และหมู่บ้านใกล้เคียงอีกรวมไปถึงจังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และปริมาณฑล สำหรับในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม พื้นที่ในลุ่มน้ำป่าสักก็จะประสบภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค บริโภค ในปี พ.ศ. 2508 กรมชลประทานได้เริ่มศึกษาโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงจึงได้ระงับโครงการฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน แต่หลายครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรจังหวัดลพบุรีด้วยความห่วงใย และได้เสด็จไปทอดพระเนตรพื้นที่ในเขตอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรีที่กำลังประสบปัญหาอยู่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล และด้วยความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์ ด้วยพระอัจฉริยภาพที่ล้ำลึก และเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ ทรงแก้ปัญหาให้ “ความโหดร้าย” ของแม่น้ำป่าสักกลับกลายเป็น “ความสงบเสงี่ยม” ที่น่านิยม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 พระองค์ท่านได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนน้ำ เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูก และบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้น (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2561ง) สำหรับรายละเอียดของข้อมูลพื้นฐานเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แสดงในตารางที่ 4
ตารางที่ 4 ข้อมูลพื้นฐานเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ข้อมูลพื้นฐาน | หน่วย | เขื่อน-อ่างเก็บน้ำ | ||
---|---|---|---|---|
ลักษณะตัวเขื่อน | ||||
ชนิด | – | เขื่อนดินแกนดินเหนียว | ||
ความสูง | เมตร | 31.5 | ||
ความยาวที่สันเขื่อน | เมตร | 4,860 | ||
ระดับที่สันเขื่อน | เมตร รทก. | 46.50 | ||
ลักษณะของอ่างเก็บน้ำ | ||||
ระดับน้ำเก็บกักสูงสุด | เมตร รทก. | 43.00 | ||
ระดับน้ำเก็บกักปกติ | เมตร รทก. | 42.00 | ||
ระดับน้ำเก็บกักต่ำสุด | เมตร รทก. | 29.00 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักสูงสุด | ล้านลูกบาศก์เมตร | 960 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักปกติ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 785 | ||
ปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด | ล้านลูกบาศก์เมตร | 3 | ||
ปริมาณน้ำใช้การ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 782 | ||
ปริมาณน้ำไม่ใช้การ | ล้านลูกบาศก์เมตร | 3 | ||
พื้นที่รับน้ำ | ตารางกิโลเมตร | 14,520 | ||
ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย | ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี | 2,400 |
3. โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่
โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ (Greater Chao Phraya Irrigation Project) เป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อการเพาะปลูกสำหรับพื้นที่ราบภาคกลางสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยมีขอบเขตตั้งแต่จังหวัดชัยนาทถึงอ่าวไทย เดิมการเพาะปลูกในเขตพื้นที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ในปีฝนแล้งเกษตรกรมักได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำอยู่เป็นประจำ ทำให้กรมชลประทนได้ทำการพัฒนาโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ขึ้นโดยได้เริ่มเตรียมงานเบื้องต้นในปี พ.ศ. 2494 และเริ่มงานก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมกับระบบคลองส่งน้ำในปี พ.ศ. 2495 จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 ในปัจจุบันโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ได้รับการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นหลัก โดยมีพื้นที่ชลประทานที่ได้รับการจัดสรรน้ำครอบคลุมโครงการชลประทานลุ่มน้ำปิงตอนล่าง โครงการชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา–ท่าจีน และโครงการชลประทานลุ่มน้ำน่านตอนล่าง รวมเป็นพื้นที่ชลประทานกว่า 8,848,684 ไร่ ดังแสดงในตารางที่ 5 หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดสรรน้ำในพื้นที่ชลประทานเป็นของสำนักชลประทานที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่โครงการชลประทานลุ่มน้ำปิงตอนล่างในเขตจังหวัดตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ สำนักชลประทานที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่โครงการชลประทานลุ่มน่านตอนล่างในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ และสำนักชลประทานที่ 10, 11 และ 12 ครอบคลุมพื้นที่โครงการชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา–ท่าจีนในหลายเขตจังหวัดของภาคกลาง ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมอาคารต่าง ๆ ในระบบคลองส่งน้ำ โดยมีฝ่ายจัดสรรน้ำเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำหนดปริมาณน้ำผ่านอาคารหลักที่สำคัญในระบบ และฝ่ายจัดสรรน้ำยังทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ทำการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ หรือกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อกำหนดเป้าหมายพื้นที่เพาะปลูกในแต่ละช่วงฤดู เป็นต้น (กรมทรัพยากรน้ำ, 2559)
ตารางที่ 5 รายละเอียดสำคัญของโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่
ลำดับ | โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา | พื้นที่โครงการชลประทาน | สำนักชลประทานที่ | ประเภทโครงการประทาน | ||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
โครงการชลประทานลุ่มน้ำปิงตอนล่าง | ||||||||
1 | ท่อทองแดง | 643,125 | 4 | ชลประทานแบบรับน้ำนอง | ||||
2 | วังบัว | 446,250 | 4 | ชลประทานแบบรับน้ำนอง | ||||
3 | วังยาง–หนองขวัญ | 559,375 | 4 | ชลประทานแบบรับน้ำนอง | ||||
รวม | 1,648,750 | |||||||
โครงการชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา–ท่าจีน | ||||||||
1 | วัดสิงห์ | 67,744 | 12 | ชลประทานแบบสูบน้ำ | ||||
2 | บางบาล | 137,000 | 12 | ชลประทานแบบสูบน้ำ | ||||
3 | พลเทพ | 96,300 | 12 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
4 | ท่าโบสถ์ | 196,356 | 12 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
5 | สามชุก | 305,000 | 12 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
6 | ดอนเจดีย์ | 146,000 | 12 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
7 | โพธิ์พระยา | 370,000 | 12 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
8 | บรมธาตุ | 365,000 | 12 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
9 | ชัณสูตร | 448,250 | 12 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
10 | ยางมณี | 210,321 | 12 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
11 | ผักไห่ | 206,000 | 12 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
12 | มหาราช | 485,400 | 10 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
13 | มโนรมย์ | 284,265 | 10 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
14 | ช่องแค | 238,739 | 10 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
15 | โคกกระเทียม | 205,470 | 10 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
16 | เริงราง | 179,000 | 10 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
17 | ป่าสักใต้ | 240,600 | 10 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
18 | นครหลวง | 267,048 | 10 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
19 | รังสิตเหนือ | 455,500 | 11 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
20 | รังสิตใต้ | 526,000 | 11 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
21 | เจ้าเจ็ดบางยี่หน | 406,000 | 11 | ชลประทานแบบรับน้ำนอง | ||||
22 | พระยาบันลือ | 358,650 | 11 | ชลประทานแบบรับน้ำนอง | ||||
23 | พระพิมล | 266,000 | 11 | ชลประทานแบบรับน้ำนอง | ||||
24 | ภาษีเจริญ | 124,800 | 11 | ชลประทานแบบรับน้ำนอง | ||||
25 | คลองด่าน | 525,000 | 11 | ชลประทานแบบรับน้ำนอง | ||||
26 | พระองค์ไชยานุชิต | 510,000 | 11 | ชลประทานแบบรับน้ำนอง | ||||
รวม | 7,620,443 | |||||||
โครงการชลประทานลุ่มน้ำน่านตอนล่าง | ||||||||
1 | พลายชุมพล | 270,481 | 3 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
2 | ดงเศรษฐี | 280,359 | 3 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
3 | ท่าบัว | 248,419 | 3 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
4 | นเรศวร | 107,567 | 3 | ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง | ||||
5 | ยมน่าน | 321,415 | 3 | ชลประทานแบบรับน้ำนอง | ||||
รวม | 1,228,241 | |||||||
รวมพื้นที่ | 8,848,684 |
หมายเหตุ: ข้อมูลพื้นที่ชลประทานจาก Shape File ปี พ.ศ. 2560
4. เอกสารอ้างอิง
กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2559). โครงการศึกษาความมั่นคงของลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนทั้ง 25 ลุ่มน้ำ. กรุงเทพฯ: ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2555). คู่มือการระบายน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ: แผนกวางแผนปฏิบัติการพลังน้ำ ฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2559). การพัฒนาแบบจำลองเพื่อใช้ในการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำที่เหมาะสมของลุ่มน้ำแม่กลอง. กรุงเทพฯ: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2561ก). เขื่อนภูมิพล. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, https://www.egat.co.th/, เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2561ข). เขื่อนสิริกิติ์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, https://www.egat.co.th/, เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2561ค). เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, https://www.egat.co.th/, เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2561ง). เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, https://www.egat.co.th/, เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564.